<< รู้แจ้งในขันธ์ห้า >>

.                          รูป
         .                 เวทนา
                          สัญญา
                          สังขาร
                          วิญญาณ
                             ……..ล้วนว่างเปล่า…………

…..เมื่อเราได้มองเห็นอริยสัจ 4 คือ ความจริง 4 ประการ ที่มันมีอยู่ และทุกคนควรทำให้แจ้ง ควรทำให้เข้าถึง เพราะเป็นสิ่งที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกคนรู้ตื่นแล้วนั้น

เราจึงมองกลับเข้ามาที่ร่างกายที่ตั้งอยู่ ณ ตรงนั้น เห็น “รูป” จึงมองเห็นว่าแท้ที่จริง ร่างกายนี้ก็เป็นเพียงแค่”รูป” “รูป” ที่ก็ไม่ต่างจากรูปของสิ่งอื่นๆ เลย มันก็ประกอบไปด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ หุ้มห่อไปด้วยกระดูก แล้วก็มีเนื้อหนัง มีอวัยวะต่างๆ หุ้มห่อมันเข้าไว้ มันก็เป็นเช่นนี้ อย่างนี้เอง

แล้วก็มองเห็นว่า ใน “รูป” นี้ก็มี “เวทนา” มี “สัญญา” “สังขาร” “วิญญาณ” มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ชุมนุมกัน ประกอบกันขึ้นมา ก็เลยเป็นร่างกายนี้

  • “รูป” ก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา
  • “เวทนา” ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา
  • “สัญญา” ก็ไม่ใช่ตัวใช่ตน ใช่เรา ใช่ของของเรา
  • “สังขาร” ก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา
  • “วิญญาณ” ก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา

จริงๆ แล้วเขาก็เกิดขึ้นตามเหตุของเขา และเขาก็ชุมนุมกันอยู่เป็นปรกติ ชี่งสิ่งที่ตั้งอยู่ เป็นอยู่นี้ คือ “รูป”  สิ่งที่เป็นองค์ประกอบของ “รูป” ก็คือ กระดูก เนื้อหนังต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมา สิ่งที่มันทำงานได้อยู่ มีชีวิตอยู่ก็คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มันหมุนอยู่เวียนกันเป็นปรกติของธรรมชาติร่างกายที่มันเป็นอย่างนั้น

และนอกเหนือจาก “รูป” ที่มีองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้แล้ว  ก็ยังมี “เวทนา” ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆ  คือความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้นที่มันอยู่ในรูป คือร่างกายนั้น มันประกอบเข้าไว้ ก็ยังมองเห็นชัดเจนเช่นนี้แหละ พระยาธรรม!

แล้วก็เห็นไปอีกว่า “สัญญา”  สัญญาก็คือ ความจำมั่นหมาย ซึ่งก็เป็นการเก็บข้อมูลต่างๆ ของสมอง ของความจำ ที่มันอยู่ในตัวของขันธ์ 5 นี้ มันบันทึกจดจำเรื่องราวนั้นเรื่องราวนี้ เพื่อให้มันดำเนินชีวิตไปได้ตามปรกติของร่างกายชองตัวมันเอง เป็นไปตามธรรมชาติ สัญญาจึงไม่ใช่ตัวใช่ตนของเราเลย แต่เขาเป็นเรื่องของขันธ์ 5

“สังขาร” คือ ความคิดที่ปรุงแต่งต่างๆ คิดสิ่งนั้นสิ่งนี้สิ่งโน้น คือ ความคิดที่ทำให้เราสั่งงานให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง คิดไปเฉยๆ บ้าง คือความคิดปรุงแต่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา

เราเป็นเพียงแต่ผู้ที่เฝ้าดูอยู่ รู้อยู่ ตื่นอยู่ ดูรูป ดูเวทนา ดูสัญญา สังขารต่างๆ ดูมันทำงานไปตามระบบของธรรมชาติของมันเอง

ต่อไปก็เห็นอีกว่า มี ”วิญญาณ” อีกตัวหนึ่ง ที่มันคลุมอยู่ในกายนี้ แล้วมันทำให้ร่างกายนี้น้อมเอาเข้ามาสู่ตน ผ่าน หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่างๆ คือมันสามารถน้อมเอาเข้ามาใส่ตนได้ คือตัววิญญาณ คือตัวรับรู้สัมผัสต่างๆ เห็นแล้วก็น้อมเข้ามา ได้ยินก็น้อมเข้ามา

รูป รส กลิ่น เสียง ต่าง ก็จะหยิบเข้ามาใส่ตน น้อมเอาเข้ามาสู่ขันธ์ 5 เป็นตัวเป็นตน  เป็นตัวปรุงแต่ง เป็นกิเลส เป็นตัณหา ไปอย่างนั้น

จิต เมื่อรู้ตื่น ยืนอยู่นอกโลกนอกจักรวาล  มองเห็นสัจธรรม คือ ความเป็นจริงที่เป็นไปอยู่ของโลกของวัฏสงสาร มองเห็นกติกาของโลกของวัฏสงสาร มองเห็นความเป็นจริง เรื่องเหตุที่ทำให้ทุกคนจมอยู่ในนี้ คือ การหลงใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มองเห็นความเป็นจริงว่า หนทางแห่งความหลุดพ้น ไม่ใช่การประมาณตน แต่เป็นการฝึกฝนตนอยู่บนทางสายกลาง บนเส้นทางแห่งมรรคที่มีองค์ 8 ประการที่ประพฤติปฏิบัติตาม

ควรทำตนให้แจ้งในอริยสัจ 4 คือความจริง 4 ข้อนั้น แล้วก็เลยมองทะลุแจ่มแจ้งเข้ามาสู่รูปกายที่ตนนั้นยังครองกายนั้นอยู่ ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ แต่จิตกลับอยู่เหนือกายอยู่นอกกาย มองกลับมาเห็นการทำงานที่เป็นปรกติของรูปร่าง ร่างกาย ที่เรียกว่าเรา ว่าเขา แจ้งตามความเป็นจริง เหมือนกับว่าเราเห็นหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมา หรือเห็นต้นไม้ใบหญ้าที่เขาก็เป็นไปคามธรรมชาติของเขาอย่างนั้น เพียงแต่เราปล่อยให้จิตของเราเข้าไปพัวพัน ยึดเอาถือเอามาเป็นเรา  เป็นตัวเป็นตนของเรา เป็นเขา เป็นตัวตนของเขา

จิต เมื่อหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง รู้แจ้ง รู้ติ่น เห็นตามความเป็นจริงอย่างชัดเจน พร้อมด้วยร่างกายด้วย จึงสามารถที่จะแตกฉานเข้าใจในความเป็นจริงทุกประการ รู้ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างแจ่มแจ้ง ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมดนี้ล่ะ พระยาธรรมเอย!

คือสิ่งที่เราผู้ซึ่งเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ณ ใต้ต้นโพธิ์นี้ สมัยเมื่อพุทธกาลนั้นศาสนาพุทธในยุคขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชื่อว่า”พระสมณโคดม” จึงได้เริ่มต้น เริ่มต้นขึ้น ณ ใต้ต้นโพธิ์นั้น

เมื่อพิจารณาธรรมนี้อยู่สักระยะหนึ่ง จนแตกฉานและรู้ตื่น แจ่มแจ้ง ยืนอยู่เหนือธรรมเหล่านี้ จึงนำธรรมเหล่านี้ไปเผยแผ่ต่อ เช่นนี้แหละ พระยาธรรมเอย! พอจะเข้าใจบ้างแล้วหรือยังเล่าลูก! .….สาธุ เจ้าค่ะ

…..รู้ทันมายา….

…ปลุกจิตให้รู้ตื่นจากพระนิพพาน

<< รู้ทันมายา >>

………..สิ่งทั้งหลายเป็นเพียงแค่มายาสมมติขึ้นมา เป็นภาพมายา เป็นของที่ไม่มีอยู่จริง

“รูป” ร่างกายนี้ก็เป็นมายา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

“สังขาร” “วิญญาณ” หรือว่า “เวทนา” หรือว่า “สัญญา” ทุกสิ่งที่อยู่ในรูปนี้ รวมแล้วเป็นขันธ์ 5 สิ่งเหล่านั้น ก็คือ มายา เพราะมันเป็นเพียงแค่สิ่งที่สมมติเป็น สมมติดำเนินไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

“รูป” ทั้งหลาย เป็น มายา

“เวทนา” ทั้งหลาย ทั้งสุข ทุกข์ ทางกายทางใจ ก็เป็นเพียงแค่มายาแห่งเวทนา

“สัญญา” ก็เป็นเพียงแค่มายาแห่งสัญญา ที่จำได้หมายรู้ จดจำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงแค่มายาแห่งสัญญา

“สังขาร” ปรุงแต่งนึกคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงแค่มายาแห่งสังขาร เมื่อมันปรุงแต่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เดี๋ยวก็ดับไป

“วิญญาณ” รับรู้ผ่านหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นเพียงแค่มายา

มายาแห่งกองทั้ง 5 คือ ขันธ์ 5 กองนี้ คือ มายาทั้งสิ้น จิตเราเป็นผู้ดูอยู่ จิตเราเป็นผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ จึงเห็นมายาเหล่านี้เป็นเพียงแค่สิ่งที่หลอกให้จิตของเรา หลงอยู่ จมอยู่ ทุกข์อยู่ ไม่รู้จบสิ้น และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เที่ยงแท้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เราจงรู้ตื่น อย่าไปเพลิดเพลิน ลุ่มหลง ตกเป็นทาสของมายาเหล่านี้

จิตจงเป็นนาย กายจงเป็นบ่าว จิตจงพาหายสร้างและทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ เพื่อที่จะได้ไม่ติดหนี้เวรหนี้กรรม สร้างแต่สิ่งที่ดีที่เกิดประโยชน์ แล้วในที่สุดก็อยู่เหนือทั้งการทำสิ่งต่างๆ ทั้งหมด ด้วยการรู้ตื่น

พระยาธรรมเอย! เมื่อเราฝึกจิตของเรานี้ ให้แยกออกมา ให้วางเฉย ให้รู้ตื่น เราย่อมเห็นมายาทั้งหลายชัดเจน เช่นนี้ลูก!

เมื่อเราเห็นชัดเจนเช่นนี้แล้ว ย่อมไม่มีสิ่งใดหลอกลวงครอบงำเราได้ลูก! จิตเราย่อมรู้ตื่น รู้ตามความเป็นจริง

ลูกเอ๋ย! การที่เราฝึกจิตให้นิ่ง ฝึกจิตของเราให้วางเฉย ให้ทรงสภาวะแห่งความรู้ตื่นตามความเป็นจริง ย่อมจะช่วยให้เราเห็นทุกอย่างตามสภาวะความเป็นจริงของสมมติทั้งหลาย เราย่อมรู้ดีว่า มายาแห่ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นมายา ทุกสิ่งนั้นเป็นเพียงแค่ของหลอกตาหลอกใจ จิตของเรารู้ตื่นรู้เท่าทันแล้ว ก็เลยไม่หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งใดๆ อีกต่อไป จิตจึงตั้งมั่น สงบ อยู่เหนือมายาทั้งหลาย

เมื่อลูกนั้นฝึกฝนตนจนอยู่เหนือมายาทั้งหลายได้ ลูกจึงฝึกฝนตนให้อยู่เหนือความยึดติด ความลุ่มหลง อยู่เหนือการพัวพัน มัวเมา อาลัยอาวรณ์กับสิ่งใดๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น ลูกจึงเป็นผู้อย่างรู้ตื่น รู้แจ้งตามความเป็นจริง ไม่เคลิ้มทุกข์ตามสิ่งใด ไม่เคลิ้มสุขไปตามสิ่งใด จิตนั้นแบ่งแยกออกจากมายาทั้งปวงได้โดยรู้ตื่น โดยไม่คลุกเข้า และไม่ถูกครอบงำอีกต่อไป เช่นนี้ล่ะพระยาธรรม!

การฝึกจิตให้นิ่งเฉย แยกจิตออกจากกาย แยกจิตออกจากใจ ให้จิตนั้นได้พักผ่อน ให้จิตได้ชาร์จพลังแห่งความรู้ตื่นสู่จิตของตน ให้จิตได้ถอยออกมาอยู่เพียงลำพัง ชาร์จพลัง เติมพลังให้เต็ม แล้วให้จิตนั้นได้พิจารณา รู้แจ้งเห็นตามมายาทั้งหลายอย่างรู้ตื่น จิตย่อมอยู่เหนือมารแห่งมายา มารแห่งสมมติทั้งปวง

เมื่อจิตนั้นอยู่เหนือมารแห่งมายา ความลุ่มหลงใดเล่าจะครอบงำให้ทุกข์ให้จมอีกต่อไปได้ …..

พระยาธรรมเอย! การฝึกจิตฝึกตนนั้นให้แยกออกจากกาย แยกออกจากความรู้สึกนึกคิด  คือ ”ใจ” แยกออกเช่นนี้อยู่บ่อยๆ จึงเป็นสิ่งที่เกิดผลเกิดประโยชน์แก่ตนมากลูก! เพราะจะทำให้ลูกทั้งหลาย เห็นและรู้เท่าทันมายาสิ่งทดสอบต่างๆ ทั้งหลาย

ค่อยๆ ฝึกไปลูก! แรกๆ นั้น เราอาจจะแยกแทบไม่ออก พอบ่อยๆ ไป เดี๋ยวเราก็จะแยกจิตออกจากกาย ออกจากใจ ความรู้สึกต่างๆ ได้ พอบ่อยๆ เข้า เราก็จะเห็นการทำงานในระบบของ   รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ การทำงานของร่างกาย การทำงานของใจ คือ ความรู้สึกต่างๆ และเราก็จะเห็นชัดเจนว่า จิต ก็คือ ผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น เห็นแจ้งตามความเป็นจริง แต่ไม่น้อมเข้าสู่ตน นานๆ ไป เราก็จะเห็น เห็นชัดเจน และสามารถที่จะควบคุมทุกอย่างไม่ให้กระทบเราได้ นานๆ ไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราก็จะอยู่เหนือสมมติทั้งหลายเหล่านั้นอย่างรู้ตื่นตลอดเวลา ถึงเวลานั้นเราก็จะเป็นผู้มีชัยชนะเกิดขึ้น นั่นล่ะลูก! พอจะเข้าใจบ้างแล้วหรือยังเล่า พระยาธรรมเอย! จงกล่าวธรรมนั้นมาเถิดพระยาธรรม!