สาระสำคัญ:-
อานิสงส์ขององค์ภาวนา
ทำกระแสพระโสดาบันให้เข้มแข็งเติบโต
วิธีการละอัตตา..ที่มีในตน
พระอรหันต์เจ้า….. ทุกๆ พระองค์ไม่ได้หายไปไหน
จดหมายจากกรุงศรีฯ
ทำกระแสพระโสดาบัน ให้เข้มแข็งเติบโต
หัวใจพระไตรปิฎก
ทางเดินออกจากทุกข์
ปัญญา อบรม สมาธิ
คาถาสืบสร้างทางสวรรค์นิพพาน
ชัยชนะที่แท้จริง
ไม่ติดในสุข…ไม่ติดในทุกข์
……. ……….
……...ทำสมาธิกันหน่อยนะจ๊ะ! ให้จิตนั้นได้เกิดศีล จะได้เป็นกุศลให้เหล่าเทพเทวดาเขาได้มาโมทนาสาธุการ อย่าได้มีกังวลอันใด เมื่อจิตของเรานั้น…สงบดีแล้ว ก็ควรหาโอกาสให้จิตนั้นเป็นอิสระจากอกุศลทั้งหลาย ที่มาครอบงำให้จิตเรานั้นดิ้นรน
เมื่อจิตเรามีโอกาสที่เป็นอิสระ ก็ควรไขว่คว้าโอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์กับจิต สิ่งใดในทางโลกที่มันล่วงมาแล้ว ผ่านมาแล้วก็ดีนั้น ก็ไม่ควรคำนึงให้จิตเราเป็นกังวล มันจะทำให้จิตเรานั้นบั่นทอนพละกำลังแห่งบุญกุศล
เมื่อกำลังจิตเรานั้นสมบูรณ์แข็งแรงดีแล้ว ไม่ว่าเราจะคิดปรารถนาสิ่งใดในสิ่งนั้น ก็เรียกว่าย่อมปรารถนาให้สิ่งนั้นบังเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยอำนาจแห่งจิต อยู่ที่ใจเรานั้น มีความตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ที่เป็นหนึ่ง ที่จิตเรานั้นประกอบด้วยคุณงามความดีแห่งกุศล อย่างนั้นก็อย่าได้ละเลย พิจารณาแล้วควรหาโอกาสให้บุญกุศลเกิดตลอดเวลา
เมื่อจิตโยมเป็นกุศลแล้ว ปิติสุขบังเกิดแล้ว เกิดความเชื่อความศรัทธาที่ได้มาแล้ว สัมผัสแล้ว ก็จะทำให้สดับสิ่งใดแล้วก็จะทำให้เกิดสติ พิจารณาตามด้วยปัญญาของเราเอง ปัญญาที่เห็นชอบ เมื่อได้สดับฟังแล้ว ทำความเข้าใจ ก็เห็นความเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ ก็ให้เอาสิ่งที่ได้เห็นนั้น พิจารณาตามเหตุตามปัจจัยที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งใดบ้างที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า และในขณะนี้อะไรที่มันเกิดขึ้นกับใจเรา ก็เอาความสงบนี้สงัดนี้ เหนี่ยวนำจิตนั้น ให้เกิดความสงบ สงบทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ นั้นก็เรียกว่า ศีลก็ได้บังเกิด
คนที่มันเพียบพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ นี้ ไม่เป็นเวรเป็นภัยกับผู้ใด นี้เรียกว่าคุณแห่งบุญกุศลแห่งรัตนะ จึงมีอานิสงส์อานุภาพมาก เมื่อจิตนั้นในขณะนั้นอธิษฐานหรือแผ่เมตตาจิตไปโดยไม่มีประมาณแล้ว ย่อมมีอำนาจบุญกุศลมากมหาศาลปกคลุมไปทั่วสารทิศ ยิ่งโยมมีจิตใจที่ตั้งมั่นในบุญกุศล ได้มาประชุมธรรม สามัคคีธรรมกันอย่างนี้ สิ่งการใดก็ตาม ที่โยมตั้งมั่นปรารถนาไปในทางเดียวกัน ไปในทางที่ชอบ และเป็นกุศลแล้ว สิ่งนั้นแม้เทพพรหมก็ไม่สามารถต้านได้ ด้วยอำนาจแห่งจิตบุญกุศลที่อยู่บนพื้นฐานของเหล่าความดี ….(เสียงกระดิ่งดัง คลายออกกจากสมาธิ)
…….อนาคตอย่าเพิ่งไปหวัง ให้โยมรู้แต่ในปัจจุบัน แล้วโยมจะรู้ได้อย่างไร?ว่าในอนาคตอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง?
……โยมรู้หรือไม่ล่ะจ๊ะ! ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ไหนใครตอบได้บ้างจ๊ะ!
……..ภายภาคหน้า โยมไม่รู้ แต่ฉันรู้ ว่าอีกไม่นานโยมต้องตาย เหมือนที่ฉันเคยตาย แต่ความตายนั้นไม่น่ากลัว แต่ชีวิตหลังการตายนี้ หากโยมนั้นไม่มีเสบียงบุญ กำลังแห่งบุญกุศลมากพอแล้ว อุปมาเหมือนการเดินทางไปในจุดที่โยมนั้นปรารถนา ถ้าหากเสบียงบุญของโยมนั้นไม่มากพอ มันหมดลงที่กลางทาง แล้วจะเอาอะไรเป็นหลักประกันได้บ้าง ใช่ไหมจ๊ะ!
ดังนั้น เมื่อโยมนั้นยังไม่แน่ใจ ว่าสิ่งที่โยมจะไปนั้น มันคืออะไร? เพราะฉะนั้น สัมภเวสีทั้งหลายจึงมีมาก ที่เรียกว่า ไม่มีหลักแห่งจิตวิญญาณ อย่าเพิ่งรอให้ใครนั้นทำบุญกุศลไปให้ เมื่อเรามีกายสังขารแล้ว สิ่งใดการใดที่เป็นบุญกุศล ที่ทำแล้วไม่เบียดเบียนผู้ใด แม้เล็กน้อยก็ควรทำ แต่บุญที่ได้เมื่อทำแล้ว ลงทุนไม่ต้องมาก แต่ลงทุนด้วยใจที่มีกำลังแห่งความเชื่อความศรัทธาแล้ว ย่อมได้อานิสงส์กำไรมากมายมหาศาล ก็เรียกว่าสำเร็จด้วยการเจริญ ศีล สมาธิ และภาวนานี้ จึงมีอานิสงส์มาก
ถึงได้บอกภายภาคหน้าที่จะเกิดนั้น โยมไม่สามารถรู้ได้เลยว่า โยมจะต้องตายเมื่อไร? แต่ที่ฉันเห็นแน่ๆ ข้างหน้านี้จะมีมนุษย์อีกมากมายที่ตาย มันก็เป็นเพราะว่า เป็นส่วนเกินแห่งธรรมชาติ เป็นส่วนเกินแห่งธรรม สิ่งใดบ้างที่เป็นส่วนเกิน ในสังขารของโยมมีอะไรบ้างที่เป็นส่วนเกินบ้างจ๊ะ!
………………………………..
เดี๋ยวโยมตั้งจิตแผ่บุญกุศลให้สัตว์โลกหน่อยนะจ๊ะ! เพียงโยมกำหนดจิตที่มีเมตตากรุณาปราณีต่อสรรพสัตว์ บุญกุศลก็บังเกิด ก็บุญกุศล นั้นแลที่จะนำพาให้เขาเหล่านั้น ถึงแม้เขาไม่พ้นการตาย แต่บุญกุศลนั้น เมื่อแผ่ไปแล้ว ก็จะนำพาให้เขาเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ทรมานได้ ดังนั้น ขอให้โยมนั้นจงมีจิตที่เป็นกุศล สิ่งใดที่ทำให้จิตเรานั้นตกอยู่ในอบายภูมิ ทำให้จิตเรานั้นเศร้าหมองแล้ว ก็ควรกำหนดรู้ ขอให้มีองค์ภาวนาไว้
อานิสงส์ขององค์ภาวนา
การภาวนานี้ เป็นการรักษาจิตอย่างดี เป็นกำแพงแก้วทั้ง 7 ชั้น
ไม่ว่าจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ดี ธัมโม ก็ดี สังโฆ ก็ดี พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ก็ดี สัมมาอรหัง ก็ดีนั้น หรือพระคาถาบทใดที่เราภาวนาแล้ว มันจับจิตจับใจแล้ว นั้นก็เรียกว่า เป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง ไม่ให้จิตเรานั้นฟุ้งซ่านรำคาญใจในอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบจิต
นั้นในการเจริญภาวนา จะเกิดขึ้นต่อเมื่อจิตเรานั้นมีความกังวลหนึ่ง สองมีความกลัว นั้นเรียกว่าจิตนั้นกำลังจะมีภัย ให้ระลึกถึง”องค์ภาวนา” แล้วจะทำให้เกิดสติ หากมีเภทภัยแล้ว ก็สามารถแคล้วคลาดได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ดังนั้นทุกยามราตรี ก่อนโยมจะเจริญบุญกุศล ก่อนนอนก็ดี เมื่อตื่นจากบรรทมแล้วก็ดี ควรมีองค์ภาวนาว่า พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ อยู่เป็นนิจ
อานิสงส์การภาวนาเข้าถึงพระพุทธนี้ (หนึ่ง)ย่อมมีผลครอบคลุมไม่ให้ตกอบายภูมิ (สอง)ทำให้จิตของโยมนั้นเข้าสมาธิได้ง่าย (สาม)ทำให้จิตของโยมนั้นไม่เป็นวิกลจริต (สี่)ทำให้ศีลของโยมนั้นตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดีได้ แม้ศีลของโยมนั้นจะบกพร่องไปบ้างก็ตาม แต่บุคคลที่มีศีลมีธรรมแล้ว มีเชื้อแห่งพระนิพพานแล้ว แม้จะทำกรรมหนัก หรือทำกรรมใดๆ ที่เป็นในทางที่ชั่วก็ดีแล้ว ย่อมมีความละอายมีความเกรงกลัวต่อสิ่งๆ นั้น แม้ในขณะนั้นจะเป็นที่ลับตาก็ดี เป็นที่แจ้งก็ดี ล้วนแล้ว ผู้นั้นย่อมมีสติ รู้ว่าทำอะไรอยู่?
ทำกระแสพระโสดาบันให้เข้มแข็งเติบโต
บุคคลที่เข้าเจริญในสมาธิภาวนา มีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ ก็เรียกว่า กระแสนิพพานชั้นต้นก็บังเกิดขึ้นแห่งกระแสพระโสดาบัน แต่กระแสพระโสดาบันนั้นมันจะมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นขาดสติ ขาดองค์ภาวนา ขาดจุดหมายที่จะเดิน แต่ถ้าผู้ใดมีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระรัตนตรัย มีจิตมุ่งตรงต่อการพ้นทุกข์ เห็นว่ากายนี้แลเป็นของทุกข์ มีสุขน้อยมีทุกข์มากแล้วไซร้ กระแสนิพพาน หรือพระโสดาบันนี้ เชื้อแห่งพระนิพพานนี้ ก็เรียกว่าจะเกาะติดจิตวิญญาณของโยมไม่ให้ตกอยู่ในอบายภูมิ ดังนั้นจงทำกระแสนี้ให้มันเข้มแข็งเติบโต เพราะอะไรเล่า? ก็เพราะว่ามันจะคุ้มครองโยม ให้รอดปลอดภัยสู่ยุคใหม่
กรรมดี กรรมชั่ว…(กรรม เหนือ กรรม)
แต่ถ้าว่า ดวงจิตผู้ใดนั้น ยังมีจิตกวัดแกว่ง ไขว่คว้าในอกุศล เรียกว่า “ขาดสติ” ขาดความละอายเกรงกลัวต่อบาป ถึงไม่มีใครรู้ แต่เรานั้นแลย่อมหนีความจริงในสิ่งที่เราปกปิดไม่ได้ ถึงแม้เราจะปกปิดใคร ดังนั้นแล้วก็ควรมีความละอาย แม้สิ่งนั้นล่วงไปแล้ว ก็ควรกลับมาไตร่ตรองพิจารณาดู และแก้ไขว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น ที่เรานั้นทำไปแล้ว มันเป็นกรรมดีหรือไม่? มันไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่? เพราะกรรมทั้งหลายนั้น เมื่อเราทำไปแล้ว ถ้าทำให้เราเดือดร้อนภายหลังนั้น เรียกว่า “กรรมชั่ว” ควรมีสติกำหนดรู้อยู่บ่อยๆ ถ้ากรรมอันใดทำไปแล้ว ไม่ทำให้เดือดร้อนภายหลัง นั้นเรียกว่า “กรรมดี” ก็ควรทำให้มันเจริญขึ้นๆ
แต่หากกรรมอันใดทำไปด้วยทางความพ้นทุกข์ ไปสู่นิโรธไปสู่มรรค นั้นเรียกว่า สามารถจะทำให้จิตเรานั้นพ้นจากบ่วงกรรมทั้งหลายได้ (กรรมเหนือกรรม) ดังนั้น อย่างที่สามนี้ ถ้าโยมทำได้อยู่บ่อยๆ แม้ภัยพิบัติทั้งหลายจะถาโถมมาทิศทางใดก็ตาม ก็ไม่สามารถจะพัดพาโยมไปได้ เทพเทวดา หรือแม่นางธรณีนั้น ย่อมค้ำชูอุดหนุน ช่วยปัดเป่าคุ้มครองภัย ให้โยมนั้นรอดปลอดภัยได้ ก็คือ การเจริญฌาน คือเพ่งอยู่ในกุศลผลบุญ ใน คุณงามความดีของเรา ระลึกถึงองค์ภาวนา เจริญแผ่เมตตาเป็นนิจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้กำลังกุศลของโยมนั้น รักษาดวงจิต รักษากายสังขารของโยมนี้ เอาไปประกอบคุณงามความดีได้ ทั้งภพนี้ และภพหน้า
มนุษย์ต่อไปนั้นจะเข้าถึงธรรมกันได้ง่าย ก็เหตุเพราะว่า:-
หนึ่ง มนุษย์นั้นเห็นทุกข์ภัยมากยิ่งขึ้น
อันที่สอง เห็นการตายแห่งมนุษย์ด้วยกัน
อันที่สาม เห็นเวทนา คือ ความอดอยาก
ดังนั้น มนุษย์ที่ยังติดในสุขอยู่ก็ดี ที่ยังไม่เคยเจอสภาพที่เลวร้าย ก็เรียกว่ายังละออกจากสุขไม่ได้ ดังนั้น มันต้องเจอของจริง สัมผัสของจริง มันถึงจะรู้ว่าทุกข์สุขเป็นอย่างไร? อุปมาก็เหมือนว่า บุคคลที่มีบาดแผล ย่อมมีเวทนาความรู้สึกในบาดแผลนั้น เช่นกันก็ต่างกับผู้ที่เขาไม่มีบาดแผล ย่อมไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด นั้นแล คือความรู้สึกที่จิตนั้นเข้าไปสัมผัสได้ในเวทนา ก็เช่นกันในกาลข้างหน้า อีกไม่นานเกินรอ (โยม)จะได้เห็นปรากฏการณ์แห่งธรรมชาติ เรียกว่าปรากฏการณ์แห่งกรรม ที่ไม่มีใครลิขิต แต่เป็นสิ่งธรรมดาที่มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว
วิธีการละอัตตา..ที่มีในตน
ในสิ่งที่เป็นวิกฤตนั้น โยมจะเห็นประโยชน์ในความตาย ในทุกข์ก็ดี นั้นคือเห็นอะไร? นั้นเรียกว่าเห็นสัจธรรม คือความเป็นจริงว่า ไม่มีอะไรเลยที่มนุษย์นั้นจะสามารถกอบโกยไปได้ มีเพียงอย่างเดียวที่ทิ้งไว้ในปฐพี และในนามธรรม คือ คุณงามความดี และความชั่วที่ได้กระทำไว้ ที่จะไม่มีวันสาบสูญไปไหน ดังนั้น เมื่อโยมจะเข้าเจริญสมาธิภาวนา ขอให้โยมพิจารณาให้เกิดความสังเวช รู้สึกเช่นนี้อยู่บ่อยๆ เนืองๆ นี้คือ การละอัตตาทีมีในตน ยึดมั่นถือมั่นในตน แม้ทรัพย์สินก็ดี แม้วัตถุสิ่งใด ก็ดี สิ่งใดก็ตามที่จิตนั้นเข้าไปยึดมั่นถือมั่น แม้สภาวะใดสภาวะหนึ่ง ย่อมทำให้เกิดทุกข์
ดังนั้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น เมื่อมีได้ก็หมดได้ แต่ที่สิ่งนั้นมีได้แล้วไม่มีวันหมด นั้นก็คือ เราไม่ยึดในสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็จะอยู่กับเราอยู่ตลอดไป นั้นก็คือ การให้ไม่มีที่สิ้นสุด ให้มากเท่าไร โยมก็จะได้มากเท่านั้น ถ้าโยมคิดว่าจะครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง โยมจะไม่ได้ทุกอย่าง เพราะเหตุการณ์ที่โยมจะไปยึดนั้น มันหาควรเป็นอย่างนั้นได้ไม่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนแล้วเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง นั้นก็คือได้แค่อาศัย เช่นว่าในกายนี้ สังขารนี้ ครอบครัวนี้ ประเทศนี้ เรือนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนแล้วแต่ให้โยมนั้นได้เสวย ได้อาศัย เมื่อถึงเวลาก็ต้องพลัดพรากจากกันไป แม้กายแสนกายว่าเราแสนรักแค่ไหน ก็ต้องพลัดพราก ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา ลูกหลาน สามีภรรยา เมื่อถึงเวลาก็ต้องพลัดพรากจากกันไป ถ้าไม่จากด้วยความตายก็ต้องพลัดพรากจากความทุกข์ สิ่งทั้งหลายนี้ ถ้าโยมเข้าใจแล้ว ทุกข์ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า มันก็จะเบาบางลง
จิตวิญญาณแห่งพระอรหันต์เจ้าก้ดี พระอริยสงฆ์เจ้าก็ดี
……ไม่ได้หายไปไหน
แล้วเหตุที่โยมได้มา หรือมาแล้วยังไม่เข้าใจ ก็จงสดับไว้ให้เข้าใจ สิ่งในโลกนี้ เมื่อจะถึงวิกฤต สิ่งที่โยมไม่เคยเจอ โยมจะได้พบ ไม่ว่าสิ่งนั้น จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ขอให้จงจำเอาไว้ ในจิตวิญญาณแห่งพระอรหันต์เจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์เจ้าก็ดี ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่เป็นปรมาณูธาตุ ยังมีความศักดิ์สิทธ์ความขลังอยู่ เมื่อถึงเวลาถึงกาล ย่อมมารวมตัวแห่งธรรมธาตุขันธ์ ได้มาฉุดช่วย มาบอกทาง ที่ภัยจะบังเกิด ก็เพราะว่า ต้องรักษาเชื้อมนุษย์ไว้ เพื่อเอาไปต่อคุณงามความดี ในโลกนี้ที่จะถึงกาลอวสาน แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุดของโลกนี้ มันเป็นแค่กึ่ง ในคำว่า กึ่งนี้ อุปมาเหมือนว่า จาก 100 ก็เหลือ 50 ก็เอาส่วนที่เหลือนี้แล ไปสร้างคุณงามความดี สร้างกุศล สร้างเผ่าพันธุ์ ให้รักษาคงอยู่ไว้ ต่อไปใน โลกนี้ สยามนี้ ก็จะอยู่เป็นเกาะเป็นแก่ง มนุษย์นั้นก็จะอยู่เป็นก๊ก เป็นเหล่า
แต่หากว่า ถ้ามีใจนั้นที่เป็นไปในทางแห่งมรรคแล้ว โยมจะเดินเจอในทางเดียวกัน นั้นเรียกว่า เมื่อถึงเวลา คนที่ไม่เคยเจอ คนที่อยู่แสนไกล แม้คนที่ไม่เคยพูดจากัน ย่อมกลับมาเจอกัน นั้นเรียกว่าถึงเวลา เช่นว่าโยมนั้นไปงานศพใคร เมื่อถึงเวลาโยมก็ได้พบพาเจอกัน นั้นเรียกว่าเป็นที่ประชุมแห่งความตาย เช่นเดียวกับที่แห่งนี้ ที่ประชุมแห่งความดี แห่งบุญกุศลที่จะบังเกิด จึงอยากให้โยมนั้นได้สดับ และเข้าใจ ว่าโยมมาทำอะไร? แล้วฉันมาทำอะไร? ฉันนั้นก็ได้มาบอกบุญ มาชี้ทางให้โยม ว่าทางไหนควรไป ทางไหนไม่ควรดำเนิน
โยมเห็นอะไรบ้าง? ที่โยมได้นั่งทุกวันนี้ เห็นอะไรบ้างล่ะจ๊ะ! เห็นอย่าง อื่นไม่มีหรือยังไง? ถ้าโยมตอบว่าเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ โยมยังไม่เห็นจริง แต่ถ้าโยมตอบว่าเห็นตน เห็นใจตน แล้วโยมจะเห็นทุกอย่าง ถ้าโยมยังไม่เห็นตน แล้วโยมบอกว่าเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งนั้นไม่มีจริงเลยสำหรับผู้นั้น แต่ผู้ใดรู้ใจตน เห็นตนอยู่บ่อยๆ โยมจะเห็นทุกอย่าง ที่มันถูกปกปิดไว้ในมิติแห่งธรรม ดังนั้นสิ่งที่โยมเห็น แล้วโยมไปยึดว่าเห็น ไปยึดว่ามี สิ่งนั้นไม่มีสำหรับบุคคลผู้นั้น นั้นคือความหลง คือความไม่รู้จริง แต่ผู้ใดเห็นตน รู้ตน เตือนตน ตำหนิตน แก้ไขตน อยู่บ่อยๆ นั้นรียกว่าเห็นของจริง คือ เห็นทุกข์ แล้วโยมจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้ และโลกหน้า
………………
จดหมายจากกรุงศรีฯ
เมื่อมาก็ดีแล้ว ฉันจะแจ้งข่าวจดหมายจากกรุงศรีฯ บอกว่ากรุงศรีฯ นั้นจะมีภัยอีกไม่นาน อีก 3 วาระ
วาระใดบ้างที่จะเป็นสัญญาณเตือนภัย ให้โยมนั้นได้เตรียมตัวเคลื่อนย้าย ไม่อยากรู้หรือยังไงจ๊ะ!
…………………
วาระแรก หมายถึงว่า ถ้าโยมสร้างประตูนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ อีกภายใน 3 ปี นั้นเรียกว่าเป็นสัญญาณบอกเหตุแห่งสัญญาณภัยแห่งธรรมชาติ
เมื่อประตูมิติถูกเปิดขึ้นแล้วฟ้า แล้วธรณีจะถูกแบ่งแยก…….(มหาภัยพิบัติก็จะเกิดตามมา)………… มันจึงเป็นธรรมดา
…………………….
.ผู้ใดอยากฟังธรรม ธรรมไม่ได้หนีหายไปไหน ปัจจุบันโยมจะเจอ สัมผัสธรรมได้ตลอดเวลา ธรรมที่แท้จริง ผู้ใดอยากฟังธรรม ธรรมไม่ได้หายไปไหน ถ้าโยมมีสติอยู่กับกายสังขาร อยู่กับอารมณ์อยู่ภายในกายสังขารนี้ รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นแห่งไฟ 3 กอง โทสะ โมหะ ราคะ คือความอยากทะยานไม่มีสิ้นสุด ในสิ่งนี้เมื่อโยมกำหนดรู้แล้ว ธรรมทั้งหลายทั้งปวงใน 84000 พระธรรมขันธ์ ก็จะบังเกิดกับผู้นั้นตลอดเวลา
นั้นก็คือ ผู้นั้นจะเห็นตามความเป็นจริงแห่งทุกข์ได้ เข้าถึงอริยสัจจ 4 คือ ความเป็นจริงว่า ทุกข์นั้นมีอยู่จริงในกายนี้ เป็นเหตุให้เกิดขึ้น คือ “ใจ” ที่ไปดำริว่า “พอใจ” “ไม่พอใจ”
เมื่อเรากำหนดรู้อยู่บ่อยๆ ในอาการ ในอารมณ์นั้น ก็ย่อมเกิดนิโรธ ย่อมไปดับอารมณ์นั้นได้ ผู้ใดดับไฟได้ เห็นความสงบ ย่อมเกิดปัญญา ย่อมเห็นทาง นั้นคือ “มรรค” ทางเดินจากการออกจากทุกข์ได้ เมื่อทำอย่างนั้นอยู่บ่อยๆ ย่อมแน่แล้วไซร้ ในสิ่งต่างๆ นั้น ย่อมมีความเชื่อมั่นตั้งมั่น ในพระรัตนตรัย เมื่อนั้นแล บุคคลผู้นั้นย่อมเห็นภัยในวัฏฏะ ย่อมจะไม่รีรอในการเจริญความเพียร เจริญกุศลให้เกิดอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น ไม่ว่าโยมจะประพฤติปฏิบัติธรรมก็ดี เจริญความเพียรก็ดี สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ทำให้โยมนั้นเกิดสุข สิ่งนั้นคือโทษ
ดังนั้น ผู้ที่ไขว่คว้าเจริญในกุศลนั้น ควรหลีกหนี ในสุขก็ดี อย่าได้ไปติดในสุข ในการนอนมากก็ดี ในเครื่องอำนวยความสะดวกมากก็ดี “ควรละ” นั้นเรียกว่า เป็นบ่วง เป็นเหยื่อล่อ ทำให้จิตของโยมนั้นมันเกิดกิเลส เกิดอกุศล
ในขณะที่โยมมาประพฤติปฏิบัติ มากอบโกยในบุญกุศล สิ่งใดที่ทำให้โยมนั้นเกิดสุข ควรกำหนดรู้ ควรหลีกเลี่ยง แล้วจะทำให้โยมนั้นเข้าถึงในความสงบ เข้าถึงในความเพียรได้อย่างแท้จริง
เมื่อโยมยังไม่ละอารมณ์เหล่านี้ได้ อัตตาตัวตนในความยึดมั่นในอุปาทานนั้น ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ย่อมละออกไม่ได้ ให้แก่เฒ่าแค่ไหนก็ยิ่งละยาก เพราะกิเลสตัณหาไม่มีวัยชรา เป็นอมตะเช่นกัน
………………………….
ถาม : หลวงปู่ครับ อยากถามว่า อารมณ์เวทนา เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะดับมันอย่างไร?
ตอบ : มันเกิดขึ้นแล้ว โยมอย่าไปดับมันจ้า เข้าใจไหมจ๊ะ!
ความโกรธนี้ ไม่มีใครดับความโกรธได้ ถ้าโยมดับความโกรธได้ มัน(ก็)ไม่ต่างอะไรกับโยมหนีความตายได้ ความโกรธก็ดี ทุกข์ก็ดีไม่ใช่ว่าโยมจะต้องไปดับมัน ทำไม? กฎแห่งไตรลักษณ์ เขาบอกว่า ทุกขัง อนิจจัง (อนัตตา) คือ
เวทนาทุกข์ – มีอยู่จริง
อนิจจัง – คือความไม่เที่ยง
อนัตตา- คือความไม่มีอะไร
แสดงว่าสิ่งนั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ไม่นาน ย่อมดับไปตามสภาวะของมันเอง โดยที่เราไม่ต้องไปดับอะไรมันเลย
ดูตัวอย่างประกอบ: ==> จิต,,,เปรียบดั่งเช่นสระน้ำ (แตะหรือคลิก)
แต่โยมถามว่า “เวทนา” เมื่อเกิดแล้วจะดับอย่างไร? โยมไม่ต้องไปดับ เพียงกำหนดรู้ ว่าในสิ่งนั้น อะไรมันเกิดขึ้นในไฟ 3 กอง เมื่อเรากำหนด รู้แล้วในอารมณ์นั้นที่มันเกิดขึ้น ไฟทั้งหลายก็ดี มันย่อมมีเหตุมีเชื้อ ให้โยมไปกำหนดดูที่เหตุ ก็คือที่ “ใจ” มันเกิดจากอะไร?
เมื่อโยมไปรู้เหตุเมื่อไร? มันก็จะค่อยดับไปของมันเอง แต่ถ้าโยมไม่รู้สาเหตุแห่งการเกิดแห่งเชื้อไฟนี้ เชื้อทุกข์นี้ เชื้อกรรมนี้ เวทนานี้ อารมณ์นี้ เกิดขึ้นแล้ว ให้โยมดับอย่างไร มันก็ดับไม่ได้ แม้น้ำในมหาสมุทร โยมจะเอามาดับก็ไม่พอกับความอยากของมนุษย์
ดังนั้น สิ่งที่มันจะดับได้ คือ รู้เหตุ แก้ที่เหตุ คือ รู้ที่ ”ใจ” แก้ที่ “ใจ” วางที่ “ใจ” ปล่อยให้ได้ วางให้ได้ นั้นน่ะจ๊ะ! มันจะดับของมันเอง เพราะ ใครไปจุดเล่า?
เพราะโยมยังถือคบเพลิงอยู่ โยมวางกันบ้างหรือยัง? ละกันบ้างหรือยัง?
“ไฟ” มันติดของมันอยู่แล้ว ถ้าโยมไม่มีธาตุไฟ กายสังขารของโยมนี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องมีความพอดี ถ้าเกินความพอดี เกินขอบเขต…..…มันย่อมเกิดความเหลื่อมล้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำอันนั้นมีไฟมากจนเกินไป มันย่อมผลักออก เพื่อให้เกิดความสมดุล
ดังนั้น การจะดับ (โยม)ต้องรู้เหตุก่อน เหตุที่แท้จริงในทุกข์ทั้งหลายนี้ มันเกิดเพราะ “ใจ” จะตัดกรรม ต้องตัดที่ใจตนเอง ไม่ใช่ตัดที่ใคร หรือไปกล่าวว่าผู้นั้นเป็นต้นเหตุ ว่าทำให้เรานั้นเกิดทุกข์ อันที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น เหตุทั้งหลายไม่ใช่เพราะใคร ก็เป็นเพราะตัวของผู้นั้นเอง ที่ทำให้เกิดขึ้น ยิ่งเราไปโทษไปกล่าวหาใคร ก็ยิ่งเรานั้นสร้างเวรพยาบาท ผูกใจอาฆาตมาดร้ายไม่มีสิ้นสุด ย่อมทำให้ไฟเรานั้นเผาผลาญลุกลามมอดไหม้
ดังนั้น เราควรดับที่(ตัวของ)เราเอง เมื่อเราไม่มีเชื้อแล้ว เชื้อภายนอกย่อมเข้าเราไม่ได้
เมื่อเราสงบแล้ว เราวางแล้ว นี้ขณะการวางของเรานั้น เราวางได้จริงหรือไม่?
การจะวางในไฟนี้ ในทุกข์นี้ นั้นเราต้องมีการให้อภัยทาน โยมเคยมีการให้อภัยใครหรือยัง? ที่บุคคลนี้ทำให้เรานั้นผูกใจเจ็บอาฆาตมาดร้ายนี้ เคยให้หรือยัง? ถ้าโยม(ยัง)ไม่เคยนั้น ฉันขอเตือน โยมต้องหัดทำให้เกิดขึ้น
หากไม่อย่างนั้น เมื่ออีก 4 ปี หรือประตูมิติเปิดแล้ว ถ้าโยมไม่รู้จักให้อภัยทาน กรรมที่โยมทำไว้ สัตว์นรกที่เขาเคยมีเวรพยาบาท เขาจะมาทวงหนี้กรรมกับโยม ที่โยมจะเห็นเป็นตัวเป็นๆ เห็นเกิดจากไหนบ้าง? อยากรู้ไหมจ๊ะ!…………………
กรรมไม่ได้ไกลเลย เขาบอกว่าคนที่ใกล้ชิด คือ ศัตรูที่ร้ายกาจ แต่ศัตรูที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ “ใจ” ของตนเอง ดังนั้น คนที่(โยม)อยู่ด้วยทุกวี่วัน นั้นแล คือภัยที่น่ากลัว เข้าใจไหมจ๊ะ! หรือว่าไม่เข้าใจ………
อะไรบ้างล่ะจ๊ะ! ที่อยู่ใกล้ตัวโยม สิ่งไหนที่โยมอยู่ใกล้ตัว หรือสิ่งนั้นอยู่ใกล้ตัวเรา ถ้าสิ่งนั้นเป็นบุคคลก็ควรระวังให้ดีในคำพูด เข้าใจไหมจ๊ะ!
……………………………………………
ทุกข์มีไว้ให้กำหนดรู้ ไม่ได้ให้ดับ
ถ้าจะดับทุกข์ ต้องดับด้วยปัญญา…แล้วจะดับอย่างถาวร
โทสะนี้ไม่มีใครดับได้ ถ้ายังไม่ถึงที่สุดแห่งธรรม แต่ควรให้โยมรู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ต้องคุมมันอย่างไร? ต้องเท่าทันมันอย่างไร? สิ่งเหล่านั้นมันก็จะเบาบางได้ มันก็จะไม่เป็นโทษกับเรา
ดังนั้น ทุกข์ทั้งหลาย ไม่ได้ให้โยมไปดับทุกข์ แต่ให้โยมรู้ว่าทุกข์นั้นเกิดที่ใด? เมื่อโยม”รู้ที่” เมื่อไร? มันจะดับของมันเอง เพราะการ”รู้ที่” “ตัวรู้”นี่คือ”ตัวปัญญา” ตัวปัญญานั้นแล มันจะไปบอก เพราะว่าแสงแห่งปัญญาไปสว่างเจิดจ้าที่ใด อวิชชา คือความไม่รู้ คือความมืดมิดมืดบอด มันจะถูกเปิดออก สิ่งเหล่านั้นมันก็จะเกิดขึ้นแห่งความรู้แจ้ง ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ที่ไฟมันเกิดขึ้น มันเกิดจากอะไร? คือทุกข์ทั้งหลายที่จะดับได้ ต้องดับด้วยปัญญา แล้วจะดับอย่างถาวร งั้นโยมต้องพิจารณาทุกข์อยู่บ่อยๆ
มนุษย์เกิดมาไม่ได้ใช้กรรม ถ้าจะบอกว่าใช้กรรมก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มนุษย์เกิดมาเพื่อรู้กรรม รู้กรรมอะไรจ๊ะ! รู้กรรมชั่วที่โยมทำไว้ เมื่อทำกรรมชั่วรู้แล้ว ถ้ากรรมนั้นให้ผลก็เดือดร้อน คือ ให้มาแก้ไขกรรม เข้าใจไหมจ๊ะ! แก้ไขพินัยกรรมที่โยมทิ้งไว้ ที่ยังสะสางไม่เสร็จ เมื่อมันสะสางไม่เสร็จนั้น ก็เรียกว่านอนตายตาไม่หลับ จึงต้องมาเกิดอีก ใช่ไหมจ๊ะ!
ดังนั้น เขาให้มาแก้ไข คือ มาแก้ไขตน ดูตน เตือนตน
แล้วเงื่อนปมที่โยมมัดไว้ มีปมมากเท่าไร อุปสรรคในการเดินทางแห่งชีวิต หรือการใช้ชีวิตนั้น ก็จะมีมากเท่านั้น เข้าใจไหมจ๊ะ!
ถ้าโยมแก้ไขปมมากเท่าไร ชีวิตโยมก็จะราบรื่น ให้จงจำไว้ เมื่อใดชีวิตโยมมีอุปสรรค แสดงว่าโยมนั้นไปผูกปมไว้ ต้องทำอย่างไร ปมนี้ ต้องไปกำหนดรู้อยู่ที่ไหนจ๊ะ ปมมันเกิดที่ไหน ปมเหตุแห่งทุกข์แห่งกรรม เกิดจากที่ใด นั้นแหละจ๊ะ!
ทุกครั้งเมื่อเหตุอันใดเกิดขึ้น ไม่ว่าทุกข์ก็ดี สุขก็ดี ให้ไปกำหนดรู้อยู่ที่ใจของตัวเอง แล้วโยมจะแก้ไขได้ แล้วสิ่งนั้นที่มันเกิดขึ้น เป็นอุปสรรคก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มันจะเบาบางลงไปเอง
แต่ถ้าโยมไม่รู้ปม โยมก็ไม่สามารถไปแก้มันได้ ก็เหมือนว่า มนุษย์นั้นเกาไม่ถูกที่คัน นั้นจึงบอกว่า มนุษย์ที่เกิดมานี้ เขาให้มาแก้ไข โยมแก้ไขกันบ้างหรือยังจ๊ะ!
การว่าแก้ไข ถ้าจะพูดให้ง่ายกว่านั้น ก็คือการมาซ่อมจิตวิญญาณของตัวเอง ซ่อมเรือนที่โยมนั้นกำลังได้อาศัยกายสังขารนี้ เพื่อโยมนั้นพายไปสู่จุดหมาย แต่ถ้าโยมไม่มีจุดหมายที่โยมเดินทางแล้ว เมื่อถึงเวลา เชื่อเพลิงของโยมหมด ถ้าเรือของโยมนั้นยังไม่ใกล้เข้าถึงฝั่ง อาจจะถูกพายุภัย พายุภัยนั้นคือ สิ่งที่โยมได้กระทำมา จนเมื่อให้ผลมาพัดพาโยมนั้น ตายก่อนอายุขัยก็ดี
ดังนั้น โยมเกิดมาแล้วมีกายสังขาร คือ ยานพาหนะชั้นดี ควรต้องรู้ว่า โยมนั้นมีหลักหรือยัง? จะพายไปที่ใด รู้หรือยังจ๊ะ! โยมจะพายไปที่ใดกัน
หัวใจของพระไตรปิฎก..หัวใจแห่งธรรม
ถ้าโยมกลัวตาย โยมไม่ต้องท่องคาถาบทใดเลย เข้าใจไหมจ๊ะ! ให้ระลึกถึงความตายไว้ ว่าจะมีอยู่เบื้องหน้าเรา อีก 5 ปี 10 ปี หรือพรุ่งนี้ สตินั้นมันก็จะบังเกิดขึ้น ความสลดสังเวชก็จะบังเกิดขึ้น ก็เรียกว่า กรรมฐานเก่าที่โยมทำไว้ ก็จะบังเกิดขึ้น ให้โยมระลึกถึงความตายทุกวัน
โยมระลึกถึงความตายทุกวันได้เมื่อไร จนจิตของโยมนั้นระลึกอยู่ตลอดเวลา ทุกลมหายใจถึงทุกข์ ถึงความไม่เที่ยง เห็นทุกสิ่งนั้นไม่มีตัวตน ไม่ควรยึดมั่นแล ความตายจักมองไม่เห็นโยม
ดังนั้น วันวันวันหนึ่งนั้น ระลึกถึงความตายหรือยัง? การระลึกนี้ระลึกอย่างไร? ก็ให้ระลึกอยู่ว่า ในปัจจุบันเราอายุเท่าไร? อีกต่อไป 5 ปี 10 ปี นี้ เราจะเป็นอย่างไร? เราจะมีชีวิตอยู่อีกหรือไม่? แล้วในปัจจุบันนี้ สิ่งใดที่เรายังไม่ได้ทำ “ทาน” เรายังทำไม่สมบูรณ์ “ศีล”เราก็ยังไม่สมบูรณ์ “ปัญญา” ก็ยังไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ควรทำให้มันเกิดขึ้น เพราะนี้แล คืออริยทรัพย์ภายในที่จะติดจิตวิญญาณโยมไปได้อย่างแท้จริง นี่คือ หัวใจของพระไตรปิฎก หัวใจแห่งธรรม คือ ทำให้จิตนั้นตื่นรู้เบิกบานอยู่ตลอดเวลา
ถ้าใครไม่ระลึกถึงความตาย ก็ไม่สามารถที่จะละถอนตัวตนอัตตาได้ ความตายนี้เป็นสัจธรรมเที่ยงแท้ เมื่อโยมระลึกอยู่นี้บ่อยๆ แล้ว เมื่อโยมเห็นความตายเกิดขึ้น โยมก็จะเห็นเป็นธรรมดา ความสลด และสังเวช..หรือความกลัว. จะทำให้โยมนั้นมีสติ ลดความกลัวให้น้อยลง
ถ้าผู้ใดข้ามสมมติบัญญัติไปได้ ก็จะไม่เกิดและไม่ตาย อยู่ระหว่างภพภูมิ เมื่อไม่มีภพไม่มีภูมิ ย่อมไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ จะทำอย่างไร?
สิ่งใดบ้างล่ะจ๊ะ! ที่เป็นสมมติบัญญัติขึ้นมา คือ รัก โลภ โกรธ หลง โยมข้ามมันได้หรือไม่จ๊ะ! ถ้าโยมข้ามมันได้ โยมก็ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ได้เช่นกัน ถ้าโยมข้ามไม่ได้ นั้นคือ ภพ ที่โยมต้องเสวย ต้องไปเกิด….
ทางเดินออกจากทุกข์
…………………..
ตายนั้น ก็อยู่ที่ว่า ตายดี หรือตายไม่ดี ถ้าโยมตายไม่ดี โยมก็ต้องไปใช้กรรมไม่ดีก่อน แต่ถ้าโยมตายดี โยมก็ไปเสวยกรรมดีก่อน
เพราะกรรมไม่ดีนั้น มันย่อมลบล้างไม่ได้ แต่ถ้าโยมทำกรรมดีไว้มาก แล้วโยมเอาดีนั้นมาต่อดี ทำกรรมดีนั้น ไอ้ที่ไม่ดีนั้น มันก็คงอยู่อย่างนั้น จนกรรมดีโยมมีมาก ไอ้กรรมที่ไม่ดี มันจึงไม่มีผล จึงเป็นเศษกรรม เมื่อเป็นเศษกรรม แม้โยมเสวย หรือมันมาให้ผล มันก็ไม่ทำอะไรโยมได้ เข้าใจไหมจ๊ะ!
เหมือนเรียกว่ากระสุนไม่ประทินผิว เข้าใจไหมจ๊ะ!
ดังนั้น อยู่ที่การว่าโยมนั้นตายดี หรือไม่ดี คือต้องตาย(อย่าง)มีสติ เข้าใจไหมจ๊ะ! มีหลักยึด
แล้วหลักอะไรจ๊ะ! ที่จะเป็นหลักประกันภัย ให้โยมนั้นได้รู้แน่เลยว่า จิตของโยมนั้นจะไม่ตกอบายภูมิ
นั้นจิตของโยมนั้น ต้องมีความมั่นตรง มุ่งตรง ต่อพระรัตนตรัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
3 พระรัตนตรัยนี้ ยิ่งใหญ่กว่าโลกธาตุทั้งปวง ดังนั้นโยมต้องทำให้บังเกิด
พระพุทธ คือ ทำให้เกิดปัญญา
พระธรรม ให้เกิดบุญกุศล คุณงามความดี
พระสงฆ์ คือเห็นตามทางแห่งทุกข์ คือเป็นผู้ปฎิบัติตามแห่งมรรคผลได้
……นี้แล คือ ทางเดินออกจากทุกข์ คือ เรียกว่า มาสว่าง ไปสว่าง เข้าใจไหมจ๊ะ!
คาถาสืบสร้างทางสวรรค์นิพพาน
โยมภาวนาไว้ทุกค่ำเช้า :-
พุทธะ พุทธา พุทเธ พุทโธ พุทธัง
อรหัง พุทโธ อิติปิโส ภควา นะ โม พุท ธา ยะ
อัฐิในตัวของโยมนั้น จะเกิดเป็นผลึก เข้าใจไหมจ๊ะ! ให้เข้าถึงสวรรค์นิพพานได้ แล้วพระคาถานี้แล จะนำพาโยม ไปสู่ทางแห่งมรรค ทางไหนก็ตาม ที่ไหนก็ตาม ที่เป็นที่เจริญ ที่เป็นที่พ้นทุกข์ ที่เป็นทางที่ไม่มีภัย โยมจะได้ไปอยู่ในที่แห่งนั้น เข้าใจไหมจ๊ะ!
ถ้าจะว่าเป็นรหัสก็ว่าได้ เช่นเดียวกับพระคาถาชินบัญชร ก็เช่นกัน ไม่ได้ให้โยมสวดเพราะความงมงาย แต่การสวดนั้น มีวาระที่ซ่อนเร้นแห่งสัญญาไว้
รู้ทุกข์ เห็นทุกข์ เรียนรู้กับทุกข์
..แล้วโยมจะพ้นทุกข์ได้
ช่วงนี้ที่ฉันเตือนโยมให้ตระหนักถึงภัย ก็เพราะมีภัยมาก ดังนั้นภัยอะไรที่สำคัญ ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าภัยธรรมชาติ ก็คือ ไฟภายในของโยมเอง เมื่อโยมมีไฟมาก ความกลัวก็จะมีมาก เผาผลาญมาก ทำให้ขาดสติ ขาดปัญญา ดังนั้นอย่าได้ไปกลัว จงเผชิญกับมัน ไม่ได้ให้รู้ หรือหนีทุกข์ แต่ให้รู้ทุกข์ เมื่อรู้ทุกข์แล้ว จงวางเฉยกับมันให้ได้ แล้วทนกับมันให้ได้ จิตโยมจะกล้าแกร่ง เป็นไปตามดำรัสขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านให้รู้ทุกข์ เห็นทุกข์ เรียนรู้กับทุกข์ แล้วโยมจะพ้นทุกข์ได้
เพราะถ้าโยมไม่มีปัญญา โยมไม่เล่าเรียน โยมจะอยู่ในโลกนี้ โลกหน้าไม่ได้ เพราะโยมจะมีแต่ความขาดบกพร่องในศีล ถ้าโยมไม่เรียน โยมจะไม่รู้
เมื่อโยมรู้แล้ว โยมอ่านเขียนได้หมด โยมย่อมรู้ว่าที่ไหนควรอยู่ ที่ไหนไม่ควรอยู่ เข้าใจไหมจ๊ะ! เช่นเดียวกับการเจริญสมาธิก็ดี เมื่อกายวาจาใจเราพร้อมด้วยศีล ด้วยธรรม ด้วยกุศล ไม่มีความอาฆาตพยาบาท ด้วยความเพียร ตั้งมั่นสู่ความพ้นทุกข์แล้ว แม้ชั่วขณะจิตเดียวที่โยมหลับตาลงไป แผ่นดินก็สะเทือน เข้าใจไหมจ๊ะ!
แต่ถ้าโยมนั่งเป็นชั่วโมง แต่กายวาจาโยมไม่มีความสงบเลย บุญกุศลก็ยังไม่บังเกิดได้ เข้าใจไหมจ๊ะ!
ดังนั้น มันต้องพร้อมด้วยศีล ด้วยธรรม บุญก็บังเกิด
ดังนั้น กาย วาจา ใจ นั้น เมื่อเราปกติดี ระงับจากเวรภัยได้แล้ว เพียงโยมนั้นสำรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สมาธิก็บังเกิดโดยธรรมชาติ แล้วจงอย่าเอาจิตนั้นส่องไปภายนอก ให้ดูแต่ภายในอารมณ์ของตัวเอง เพราะในขณะที่จิตโยมนั้นเป็นสมาธิดีแล้ว ให้กำหนดรู้อยู่ต่ออารมณ์ของตัวเอง ย่อมรู้เท่าทันความเป็นจริงว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นจากที่ใด? เป็นเพราะอะไร? เมื่อเกิดขึ้นได้หนึ่งครั้ง ปัญญาตัวนั้นจะเกาะติดจิตวิญญาณโยม นั้นคือ บุญกุศลมหาศาล แล้วโยมจะเห็นตามความเป็นจริงเอง เรียกว่า “ญาณ” จะบังเกิด โยมกำหนดรู้อะไร ก็จะรู้สิ่งนั้นได้ เข้าใจไหมจ๊ะ!
เพราะว่าในสิ่งที่เรารู้กำหนดนั้น ไม่มีอะไรมาเจือปน เมื่อไม่มีอะไรมาเจือปนไม่มาบดบัง ย่อมเห็นตามความเป็นจริง นั้นคือ เห็นทุกข์ในกายที่มีอยู่จริง เมื่อนั้น เมื่อเรามีกายก็เอากายนี้ อาศัยประกอบคุณงามทำความดี หากเราจะทำความชั่ว ก็ขอให้มีสติ เข้าใจไหมจ๊ะ!
เพราะในขณะที่เราทำความชั่วนั้น ตอนที่เรามีความละอายก็ดี ที่เรามีสติอยู่นั้น เขาบอกว่าความชั่วนั้นจะเป็นครูอาจารย์ แต่จะไม่เป็นโทษกับเรา ถ้าใครทำตรงนั้นได้ ย่อมมีประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าใครจมปลักอยู่กับความชั่วไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย บุคคลผู้นั้นย่อมมีแต่ความล่มจมหายนะ
วิธีทำจิตให้รวมลงเป็นสมาธิ โดยใช้ปัญญานำ
(ปัญญาอบรมสมาธิ)
นั้นก็หมายถึงว่า เมื่อสงบ ให้เข้าสมาธิบ่อยๆ เข้าใจไหมจ๊ะ! ถ้าไม่สงบ อย่าไปหลับตา ให้เบิกตาออกมาดู สิ่งที่เรามองเห็น จับต้องได้ สัมผัสได้ ด้วยความเป็นจริง ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่นานย่อมดับ ย่อมสลาย เมื่อถึงกาลถึงเวลา นั้นแล เรียกว่า จะเห็นความไม่เที่ยง เห็น อนิจจัง ทุกขัง เมื่อนั้นแล จิตใจมันจะละวางอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงได้ จิตใจก็เงียบ จิตตกภวังค์ เข้าถึง “สมาธิ” ปฐมฌานก็บังเกิด
ฯลฯ
บทเรียนก้าวแรก เราก็ได้เดินด้วยปัญญาพิจารณาว่า กายนี้ได้อาศัยนี้ คงอยู่อีกไม่นาน ต้องมีการพลัดพราก เราจงทิ้งพินัยกรรมสั่งเสียซะ! กรรมดีที่เรายังทำไม่ถึง หรือยังไม่เคยทำ ควรกระทำซะ! “ทาน” ที่เรายังไม่เคยให้ ก็ควรทำให้เกิดซะ! อภัยทานที่มีแก่ผู้ใด ที่ผูกจิตอาฆาตกับผู้ใด จงกระทำซะ!อย่าได้ผูกจิต เพราะนั้นแล เมื่อถึงเวลา มันจะมาให้ผลเรา
ชัยชนะที่แท้จริง
ม้าดึงลา พอเราจะเข้าถึงฝั่ง อย่าได้มีการผูกจิตกับใคร หากถ้ามี ในขณะสมาธิบังเกิด ใจบังเกิดตั้งมั่น ให้ระลึกถึงผู้นั้น ให้บุญกุศลไปเป็นอภัยทาน อภัยทานนี้เมื่ออภัยได้ บุคคลนั้นจะเข้าถึงศีลได้ง่าย สมาธิจะบังเกิดอยู่ตลอด ก็เพราะใจมันสงบนั่นเอง ที่ใจไม่สงบก็เพราะว่ามีเวรภัย มีอาฆาตพยาบาท ผูกจิตอยู่ตลอดเวลา หาความสงบความสุขใจไม่ได้ก็เพราะเหตุเช่นนี้ นี้คืออุปสรรค ไม่ว่าโยมจะชนะใครมาเป็นร้อยเป็นพัน ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริง เพราะผู้ชนะย่อมก่อเวร
แต่ถ้าผู้ใดเอาชนะใจตนเอง ชนะอารมณ์ตัวเองได้ แห่งไฟโทสะ โมหะ แห่งความหลงได้ นี่แหละคือ “ชัยชนะที่แท้จริง” โยมก็จะไม่ต้องรบกับอะไรอีก มีแต่ความสุขกายสุขใจอย่างเดียว มีแต่ความพอใจในความเพียร ก็เอาความเพียรนี้แล เป็นพลังแห่งไฟธาตุเตโชเผาผลาญกิเลสที่มันเผาผลาญเรามาเนิ่นนาน เมื่อเรามีไฟแห่งกุศลมากกว่า โยมย่อมทำลายกิเลสตัณหาให้มันพังไปได้
ไม่ติดในสุข ไม่ติดในทุกข์
ขณะที่โยมนั้นได้เจริญความเพียร จงอยู่กับทุกข์ให้มาก ไฟมันจะมีมาก แต่ไฟตัวนั้น มันจะไปเผา “อวิชชา” ให้มอดไหม้ เช่น อยู่ในที่อึดอัดก็ดี อยู่ในที่ไม่สบายกายไม่สบายใจก็ดี สิ่งนั้นควรเรียนรู้ มันจะทำให้เกิดไฟ ไฟเกิดอย่างไร? เกิดความกระวนกระวายใจนั่นแหละ โยมต้องควบคุมให้มันนิ่งให้ได้ นิ่งมากเท่าไหร่ โยมจะได้ประโยชน์มากเท่านั้น เหงื่อไหลไคลย้อยแห่งความสกปรกภายในที่ไหลออกมาภายนอกมากเท่าไร มันจะเผาผลาญกิเลสโยมออกมามากเท่านัน นั้นขอให้โยมนั้นอย่าได้ติดในสุข ถ้าโยมอยากมีความเจริญก้าวหน้าในธรรม หรือต้องการพ้นทุกข์ได้อย่างที่โยมปรารถนานั้น จงอย่าพอใจในสุข ที่ใดมีทุกข์โยมต้องไปเรียนรู้ เพราะที่นั่นคือที่ที่ปลอดภัยที่สุด ที่ไหนที่มีสุข นั่นคือ ที่อันตรายที่จะทำลายกุศลและบุญที่มันดีอยู่แล้ว ทำลายให้ตกลงไป แต่หากโยมจะเสวยสุขก็ให้มีสติ สุขนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับโยม จะไม่มีเวรมีภัยกัน นั้นเรียกว่า ไม่ติดในสุข ไม่ติดในทุกข์ นั่นเอง
…………. อย่าลืมกราบลา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยนะจ๊ะ
…………………………………………………………………………..
พระธรรมเทศนา สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมฺรังสี
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้เสียงธรรมโดย คุณแดง”
ณ สถานปฏิบัติธรรมพรหมรังสี บ้านโปร่งวิเชียร
ต.ยางน้ำกลัดใต้ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
โทร.0955695199, 0848936961, 0819293222
ส า ส์ น จ า ก ก รุ ง ศ รี ฯ
“…เมื่อกาลล่วงเลยมาถึงกึ่งยุคพุทธกาลแล้ว กาลต่อไปเขาก็จะบอกว่า…เมื่อสงฆ์แตกแยกความสามัคคีกัน เมื่อผู้ทรงศีลกลับเป็นผู้ไม่มีศีลเสียแล้ว ขาดธรรมเสียแล้ว ความสมดุลแห่งโลกใบนี้จะถูกเหลื่อมล้ำ…
…จงจำไว้ ก่อนน้ำจะหลั่งมา เหตุเพราะว่าธรณีจะแยก จึงเกิดน้ำใต้ดิน น้ำใต้มหาสมุทร หรือคลื่นที่เขาเกิดขึ้นมาแล้ว จะบังเกิดขึ้นอีกทางฝั่งตะวันออก น้ำจะไหลมาทางที่ต่ำ สู่เหนือ สู่กลาง สุดท้ายจะไปจมอยู่ สะสมอยู่ใจกลางเมือง คือ “ เ มื อ ง ห ล ว ง ”
…ดังนั้น ขอให้โยมนั้นจงมีสติ ขอให้โยมทั้งหลาย จงเร่งภาวนา อย่างน้อยภัยพิบัตินั้น ถึงแม้เราจะห้ามมันไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยพยุง ประวิงเวลาได้ ให้มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่มีบุญวาสนาอยู่นั้นได้หาแหล่ง หาที่ให้พ้นทุกข์พ้นภัยได้.…
จงจำไว้ ไม่มีใครแก้ไขชะตาแห่งกรรมของสยามประเทศได้ ทุกอย่างก็เหมือนกับว่า มนุษย์นั้นก็ไม่สามารถจะพ้นตาย แต่สามารถชะลอความตาย และกำหนดรู้ว่าก่อนตายควรทำอะไรที่ยังไม่ได้ทำ จำไว้นะจ๊ะ!…นี่คือสัญญาณบอกเหตุหนึ่งอย่าง…”
โลกนี้..จะมีภัย
“…เพราะว่าโลกนี้ต่อไปจะมีภัย จงจำไว้ยุคศิวิไลซ์ หรือ
โลกหน้านั้น ที่จะเข้าไปสู่ยุคใหม่ ศาสนาใหม่ นั้น
โยมจะไปด้วยกายสังขารไม่ได้
แต่ต้องไปด้วยอำนาจแห่งบุญ แห่งศีล สมาธิ ภาวนา
ฉันนั้นจึงมารับโยมครึ่งทาง…
.…ดังนั้นเมื่อ ๔ ปีเกิด ๔ ปีดับ ฟื้นฟูอีก ๔ ปี เป็น ๓ ปี เกิดและดับก็จะเท่ากับ ๑๒ ปี ๑๒ นักษัตร ดังนั้นยังมีเวลาให้โยม ๑๒ ปี แต่สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงจะถูกกำหนดขึ้นมา เช่นว่าเรือธรรมต้องเสร็จภายใน ๓-๔ ปีนี้ ประตูวิหารประตูทางเข้าสวรรค์นิพพานก็เช่นกัน แสดงว่าอีก ๔ ปีข้างหน้านี้ ภัยจะเริ่มเกิดขึ้นมาที่ละเล็กทีละน้อย ภัยจะมาทางทิศใต้ และทิศตะวันออก…
….ดังนั้น ต่อไปด้ามขวานของสยามจะไม่มี จะเหลือเป็นเกาะเป็นแก่ง เช่นเดียวกับลัทธิ มันจะบังเกิดขึ้นในสยาม เรียกว่าต่างคนต่างถือดีอวดดีกัน เรียกว่าไม่เคารพในคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงใจ ตั้งตนเป็นใหญ่ เป็นครูบาอาจารย์ บิดเบือนคำสอน ต่อไปจะเป็นก๊กเป็นเหล่า
ดังนั้นศาสนานั้นเรียกว่าไม่ได้วิบัติ แต่มนุษย์จะขาดศีลขาดธรรม ขาดปัญญา ไม่พิจารณาก่อนว่าอันไหนมันจริง อันไหนมันเท็จ…
….ดังนั้น กาลนี้ที่ฉันมา ไม่ได้มาให้โยมนั้นมาสงสัยว่าฉันเป็นใคร ฉันมีหน้าที่ที่มาทำงาน เพราะว่าโลกนี้จะเข้าสู่วิบัติ…ดังนั้นฉันจะมาขนบุคคลที่ยังมีบุญวาสนา เอาไปตั้งต้นอยู่ที่สวรรค์ชั้นฟ้า คือชั้นพรหม เพื่อรอยุคพระศรีอริยะเมตไตรมาโปรด… ถ้าโยมได้ร่วมสร้างบุญกุศลบารมีครั้งนี้ และก็มีความพากเพียรไป ก็ไปขึ้นเรือธรรมได้ ก็ไปตั้งอยู่ที่สวรรค์ ไม่ตกอบายภูมิ…
….บุญครั้งนี้ มีเทพพรหมมาโมทนา และรับรองในบุญนี้ จะไม่มีการตกเลย เพื่อต้องการรักษาเชื้อ… เพื่อเผยแผ่ในยุคต่อไป “
…ฉันนั้นนั่งหลับตาผ่านมา ๑๐๐ กว่าปี แต่ลืมตามาอีกทีผ่านไปแค่ ๗ วันเอง…” เห็นไหมจ๊ะ! ดังนั้น โลกมนุษย์กับโลกแห่งพรหมนั้นต่างกันยิ่งนัก ดังนั้น ฉันจะมารับโยมไป แต่ถ้าใครปรารถนาจะไปนะจ๊ะ! แม้โยมบุญกุศลยังไม่ถึงนิพพาน แต่ก็ไปตั้งต้นได้ ยังมีครูบาอาจารย์ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ให้ธรรมโยมได้ ยังดีกว่าเสียเวลาไปชดใช้กรรมในนรก…
ดังนั้นขอให้โยมรักษาศีล ๕ ให้ตั้งมั่น และขอให้โยมรับรู้ในบุญครั้งนี้ ที่ฉันมาบอกโยม จงสร้างประตูและเรือธรรมและสร้างประตูให้เกิดครบ ๙ ประตู แล้วทุกอย่างจะกลับมาสู่สภาวะสมดุล ให้ลูกหลานของโยมต่อไปได้อยู่รอด และยังเป็นทายาทกรรม และเขาเหล่านั้นจะตามโยมขึ้นไปทีหลัง เข้าใจไหมจ๊ะ!…
….เรื่องนี้ฟังแล้ว อาจจะเป็นนิยาย แต่โยมจำไว้ บุญและกรรมที่ฉันมา ถ้าไม่เกิดขึ้นจริง นั้นไม่ใช่ของจริง แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง จงสังวรเอาไว้ อย่าได้ไปปรามาสที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าโยมสงสัยจงรีบทำความเพียร แล้วโยมจะเห็นชัดในภัย(แห่ง)วัฏฏะ ในกายของโยมเอง จิตมันจะบอกโยมเอง จริงหรือไม่จริง แล้วไม่ต้องสงสัยว่าฉันเป็นใครมาบอกธรรมโยม…เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง บังเกิดขึ้นแล้ว โยมจะเห็นชัดว่าใครมาบอกกล่าวธรรมโยม เข้าใจไหมจ๊ะ!.
…………………………………………………………………
ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา.สมเด็จฯโต พรหมรังสี
วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๙ ให้เสียงธรรมโดย คุณแดง”
ณ วัดป่าเทพอุดมธรรม จ.ขอนแก่น