การที่คนเรานี้จะสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติฝึกฝนตนให้เกิดผลได้อย่างรวดเร็วได้นั้น เราจะต้องมีการตีกรอบขอบเขต ตีอาณาเขตเฉพาะที่ตัวของเราลูก! เช่นถ้าหากว่าลูกนั้นปรารถนาที่จะทำความสะอาดโลกนี้ทั้งโลก แผ่นดินนี้ทั้งแผ่นดิน ให้สะอาดสะอ้านปราศจากขยะสิ่งสกปรกทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จหรอกลูก! และมันไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะว่าธรรมชาติของวัฏสงสารนี้ ย่อมมีของสกปรกเป็นธรรมดา มีที่สะอาดก็ย่อมมีที่สกปรก เมื่อทำให้สะอาดแล้ว ปล่อยทิ้งเอาไว้มันก็ย่อมกลับมาสกปรกเหมือนเดิมอยู่ดี และเราก็ไม่สามารถที่จะทำให้ทุกที่สะอาดสะอ้านได้ลูก!

แต่ถ้าหากว่าเราตีกรอบเฉพาะเจาะจงว่า เราจะเป็นบุคคลผู้ที่มีระเบียบมีความสะอาด เราจะทำความสะอาดบ้านที่เราอยู่ ให้สะอาดสะอ้านปราศจากสิ่งสกปรก  ให้เป็นบ้านที่สะอาดน่าอยู่น่าอาศัย บุคคลผู้อยู่ก็อยู่ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่รกรุงรัง ไม่ทำให้บุคคลผู้อาศัยอยู่นั้นรู้สึกเป็นทุกข์ และถูกรบกวนจากฝุ่น จากสิ่งสกรกทั้งหลาย ถ้าลูกตีกรอบไว้เช่นนี้ย่อมเป็นไปได้ว่าลูกจะทำได้

ฉะนั้น การปฏิบัติก็เช่นเดียวกันลูก!  หากว่าเรานี้ คิด หรือว่า ทำในสิ่งที่เป็นวงกว้างเกินไป คิดเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ คิดเรื่องของ….

มันไม่มีทางหรอกลูก ว่าเรานี้จะสามารถทำการปฏิบัติของเราให้เกิดผล เพราะว่าเราไม่ตีวงให้มันแคบ แต่เราปล่อยให้เรานี้ไปวิ่งวุ่นอยู่ในวงกว้าง

…………………

บุคคลผู้ปรารถนาจะทำความสะอาดในพื้นที่ที่ไม่มีขอบเขตให้สะอาดเหมือนดังใจปรารถนา บุคคลผู้นั้นย่อมตายแล้วตายเล่าก็ยังไม่สามารถทำสิ่งที่ตนนั้นจะทำให้ได้ให้สำเร็จเลย ลูกเอ๋ย!

ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติที่เกิดผลได้อย่างรวดเร็ว จึงควรที่จะตีอาณาเขตของการฝึกฝนไว้เพียงแค่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต และที่ธรรม โดยเฉพาะในตัวของเรานี่แหละลูก!

พิจารณาในกายของเรา ดูเราให้รู้เรา ให้เห็นเรา และให้เรานี้เข้าใจในเรา ถือว่าใช้ได้ลูก!

เมื่อเราดูเรา เมื่อเรารู้เรา เราเห็นเรา เราเข้าใจในเรา แจ่มแจ้งขึ้นมาเมื่อไร เมื่อนั้นแหละลูก การปฏิบัติของเราเกิดผลแล้ว เมื่อนั้นแหละลูก การปฏิบัติของเราจึงจะมีโอกาสที่จะทำจนจบกิจและสำเร็จได้ลูก!

ฉะนั้นบุคคลผู้ปรารถนาให้การประพฤติปฏิบัติฝึกฝนของตนนั้นสำเร็จอย่างรวดเร็ว จึงควรพิจารณาเฉพาะตน เฉพาะเรื่องของตน เช่น

  • การพิจารณากายให้รู้กายของตน พิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ในกาย
  • พิจารณาให้เห็นกายไม่มีในเรา เราไม่มีในกาย พิจารณาถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของกายนี้
  • พิจารณาถึงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
  • พิจารณาถึงขันธ์ ๕ คือรูป คือเวทนา คือสัญญา สังขาร และวิญญาณ
  • พิจารณาถึง อาการ ๓๒
  • พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งามที่มีอยุ่ในกายนี้ ความสกปรกโสโครก ความหนัก และความเหนื่อย ที่ต้องดูแลกายนี้ ความทุกข์ยากลำบาก
  • พิจารณาให้เห็น กายในกาย เห็นกายว่าเป็นก้อนกรรม
  • พิจารณาให้เห็นความทุกข์ยากลำบากในการครองกายนี้

พิจารณาอยู่เช่นนี้อย่างนี้ ให้รู้ตื่น เข้าใจ รู้แจ้งในกาย จนเรานี้สามารถที่จะมีสติ รู้เท่ารู้ทัน รู้ตื่นในเรื่องของร่างกายของเรานี้

เมื่อลูกพิจารณาเรื่องของกายนี้เป็นประการที่ ๑ ได้ย่างแจ่มแจ้งแล้ว ลูกก็จงหมั่นพิจารณาถึงเรื่องของเวทนาให้แจ่มแจ้งด้วย

เวทนาคือ อารมณ์ความรู้สึกสุข ทุกข์ รู้สึกเฉยๆ รู้สึกเช่นนั้น รู้สึกเช่นนี้

พระยาธรรมเอย! การพิจารณาเวทนานั้นจึงเป็นสิ่งที่ลูกควรรู้เท่ารู้ทันอารมณ์ของตน ตอนนี้อารมณ์เรารู้สึกพอใจ รู้สึกไม่พอใจ รู้สึกชอบใจ รู้สึกไม่ชอบใจ รู้สึกแบบไหน ยังไง เราให้รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ รู้เท่า รู้ทัน รู้เฉยๆ ดูเฉยๆ พิจารณาไปๆ จนเราเห็นแจ้งในเวทนาว่าเขาอยู่ไม่เป็นสุขหนอ เขาวิ่งวุ่นตลอดเวลาเลย เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็วิ่งไปในอดีต เดี๋ยวก็วิ่งไปในอนาคต เดี๋ยวก็วิ่งไปคิดปรุงแต่งต่างๆ มากมายไปในสิ่งที่ดี เดี๋ยวก็วิ่งไปคิดปรุงแต่งต่างๆ มากมายไปในสิ่งที่ไม่ดี

อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เวทนานั้น เป็นสิ่งที่วุ่นวาย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นสิ่งที่ซนยิ่งกว่าลิง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรเขาได้เลย นอกจากเราไม่ต้องสนใจเขาเท่านั้นเอง

แล้วจงฝึกตนให้ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ ให้ตนนี้วางอารมณ์วางอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายเอาไว้นอกจิตของตน และให้รู้ให้เท่ารู้ให้ทันว่าอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราคือดวงจิต คือผู้รู้อยู่ ดูอยู่ เห็นอยู่ รู้เฉยๆ รู้อย่างอุเบกขาวางเฉย ดูเฉยๆ ดูอย่างอุเบกขาวางเฉย เรานี้ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ อารมณ์ไม่เกี่ยวกับเรา เมื่อเราห้ามเขาไม่ได้เราก็แค่ไม่ต้องสนใจเขา เขาก็จะไม่มีผลอะไรต่อเราอีก

หมั่นพิจารณาประการที่ ๒ คือเวทนาเช่นนี้ พระยาธรรม!

และต่อไปก็ให้หมั่นดูจิตของตน   รู้จิตว่าจิตคือ “ผู้รู้”

รู้จิตว่าจิตนี้วิ่งไปเป็นทาสแห่งกายอยู่หรือเปล่า?

ถ้าวิ่งไปแล้ว ก็ให้จับกลับมานิ่งสงบซะ! ให้หยุด ให้ว่างเฉย ให้ว่างซะ!

รู้เท่าทันจิตว่า จิตนี้กำลังวิ่งไปตกเป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึกอยู่หรือเปล่า?

ถ้าหากว่าจิตของเรากำลังตกเป็นทาสแห่งอารมณ์ความรู้สึก ก็จงดึงเขากลับมา กล่อมให้เขาดลกับมาอยู่ตรงที่อุเบกขา วางเฉย นิ่งเฉย ให้เขาพักผ่อนซะ! จะได้ไม่ต้องเหนื่อยต้องทุกข์

ทีนี้เราก็ฝึกดูจิตของเราอยู่บ่อยๆ อย่าให้เผลอวิ่งไปเป็นทาสของร่างกายบ้าง เป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึกบ้าง เราก็จะได้เป็นอิสระเสียที  เมื่อเราก็ตกเป็นทาสของเขามายาวนานแล้ว บัดนี้ เราก็ควรที่จะรู้ตัวบ้าง ไม่ต้องไปเป็นทาสของคนอื่น ฝึกตนให้เป็นอิสระ รู้จักวางเฉย นิ่งเฉย ชาร์จพลังของตน พักผ่อนให้พลังของจิตนั้นเพิ่มขึ้น สว่างขึ้น ๆ จิตของเราจะได้รู้ตื่น จิตของเราจะได้เป็นพุทธะ จิตของเราจะได้หลุดพ้น ไม่เวียนว่ายตายเกิด เป็นทาสของอะไรอีกต่อไป

จงพิจารณาจิตเช่นนี้เถอะลูก! เป็นประการที่ ๓ เช่นนี้อย่างนี้ก็แล้วกัน พระยาธรรม!

เมื่อลูกพิจารณาเห็นจิต และฝึกฝนจิตของตนไม่ให้เป็นทาสของร่างกาย ของอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ลูกก็จะสามารถเกิดพลังของจิตขึ้นมาได้เอง

เมื่อพลังของจิตเกิดขึ้น ลูกย่อมจะรู้ตื่น เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เมื่อนั้น ลูกก็จงหมั่นพิจารณาประการต่อไป ประการที่ ๔ คือ การพิจารณาธรรม

“ธรรม” ก็คือ ธรรมคำสอนที่องค์พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางบอกทาง และธรรมก็คือธรรมชาติทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดำเนินไปๆ ตามเหตุของมัน

จงพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงชี้ทางบอกทางว่าเป็นจริงเช่นนั้นอย่างนั้น ด้วยการเห็นตามความเป็นจริงของระบบการทำงานของธรรมชาติทั้งหลาย และฝึกฝนตนให้เข้าใจ รู้ตามความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริง และอยู่เหนือความเป็นจริงเถอะลูก! ลูกก็จะเป็นผู้เห็นธรรม เข้าใจธรรม และอยู่เหนือวัฏสงสารนี้อย่างแท้จริง

เมื่อลูกทำ ๔ ประการนี้ให้เกิดขึ้น แลกะชัดเจนมีอยู่ในตัวของลูกแล้ว การบรรลุธรรมย่อมเกิดขึ้น การปฏิบัติที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็วย่อมมีในตัวลูก ลูกย่อมสามารถที่จะเป็นผู้ถึงซึ่งบรมสุข คือความพ้นทุกข์ในแดนพระนิพพานเป็นแน่แท้ พระยาธรรมเอย!

ฉะนั้น หากบุคคลผู้ใดปรารถนาที่จะบรรลุธรรมอย่างรวดเร็ว ก็จงตีกรอบของการชำระกิเลสเพียงแค่ที่ กาย เวทนา จิต และ ธรรม ของตนเถิด! แล้วลูกก็จะเป็นผู้เห็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว เช่นนี้แหละ พระยาธรรมเอย! ลูกพอจะเข้าใจบ้างแล้วหรือยังเล่า! จงกล่าวธรรมนั้นมาเถิดพระยาธรรม!

………………………….

………………………….

สิ่งอื่น นอกเหนือจาก กาย เวทนา จิต และ ธรรม ไม่ได้มีผลต่อการบรรลุธรรมของลูกล่ะลูก!

ฉะนั้น การที่ลูกจะบรรลุธรรมได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าลูกเห็นกาย เห็นเวทนา จิต และ ธรรม อย่างแจ่มแจ้งแล้วหรือยังต่างหากเล่า!

หากลูกเห็น กาย เวทนา จิต และ ธรรม ในตน ลูกย่อมบรรลุธรรมแน่ และการบรรลุธรรมในตน ก็ย่อมเห็นโลกทั้งโลก วัฏสงสารทั้งวัฏสงสารอย่างตื่นรู้ อย่างรู้ตื่น

แต่การที่ถ้าหากว่าเราไม่รู้แค่ในเรื่องแคบๆ เฉพาะกาย เวทนา จิต ธรรม ในตัวของเรา เราอยากจะไปรู้เรื่องของคนอื่น เรื่องของโลกทั้งโลก วัฏสงสารทั้งวัฏสงสาร จะเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า? จะเป็นไปได้อย่างไรเล่า? ก็ในเมื่อ ๔ ประการ อ กาย เวทนา จิต และ ธรรม ลูกยังไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย แล้วลูกจะรู้เรื่องราวเยอะแยะมากมาย จะรู้จบรู้หมดได้อย่างไรเล่า? และก็ไม่มีผลอะไรต่อการบรรลุธรรมของลูกหรอก

ฉะนั้น จงตีกรอบเฉพาะที่ตน ฝึกฝนตน รู้ตนก็รู้ผู้อื่น รู้ตนก็รู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นแหละลูก! เพราะในความเป็นจริง เราหรือเขาก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เท่านั้นล่ะพระยาธรรม!

(พระยาธรรม) สาธุพระพุทธเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณที่ทรงแสดงธรรมนี้ ให้ลูกได้ฟังนะเจ้าคะ ลูกพอเข้าใจแล้วพระพุทธเจ้าค่ะ สาธุ